ที่พักติดแม่น้ำ สร้างจากใจคนบ้านแพน อยากให้คนมาพักมีความสุข และรักบ้านเมืองนี้

ที่พักใกล้ วัดบางนมโค หลวงพ่อปาน ทำไมที่วัดนี้จึงเหมาะกับการเป็นวัดสุดท้าย ไหว้พระ 9 วัด

หลวงพ่อปานวัดบางนมโค ส่วนมากที่วัดนี้ ถ้าคนตั้งใจจะมาไหว้พระวัด 9 วัด วัดสุดท้าย จะต้องเป็นที่วัดแห่งนี้ การมาสักการะไหว้หลวงพ่อปาน ท่านมีบารมีมาก
เพราะท่านเป็นพระหมอ หรือพระรักษาโรค ไม่ว่าใครมาที่นี่ก็จะมาขอพรให้หายป่วย สุขภาพแข็งแรง ได้กำลังใจต่อสู้โรคภัย ดีขึ้นในเร็ววัน และจากที่วัดนี้ สามารถกลับกรุงเทพได้อย่างสะดวก
สามารถทานอาหารอร่อยๆ ได้ที่ซุ้มแพหน้าวัด รวมไปถึงให้อาหารปลา ทำบุญกับปลา ได้บุญกลับบ้านครับ

โดยที่วัดนี้ จะอยู่ห่างจากสุขกายริเวอร์วิว 1 กิโลเมตรเท่านั้น และยังอยู่เยื้องฝั่งแม่น้ำ มองเห็นได้จากท่าน้ำเลยครับ 
สำรองห้องพักได้ที่ 084-1222680 , 088-2888838

“หลวงพ่อปาน โสนันโท” วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิอาจารย์ เจ้าตำรับพระเครื่องทรงพาหนะสัตว์ และยันต์เกราะเพชร

แม้จะมรณภาพไปแล้วเกือบ 80 ปี แต่นามยังเป็นที่กล่าวขวัญของคณะศิษย์และคนทั่วไป โดยเฉพาะชาวเมืองกรุงเก่า ต่างรักและหวงแหนในมงคลวัตถุของท่านอย่างยิ่ง และแทบทุกครัวเรือนต้องมีภาพถ่ายของท่านบูชาไว้เป็นมงคล

หลวงพ่อปาน เป็นศิษย์ของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เกจิดังแห่งพระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี และเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่-หลวงพ่อดังๆ หลายรูป ที่รู้จักกันดี คือ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

ท่านมีชื่อเดิมว่า “ปาน สุทธาวงศ์” เกิดวันที่ 16 ก.ค.2418 ที่ ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรี อยุธยา ครอบครัวมีอาชีพทำนา

เหตุที่ได้ชื่อว่า “ปาน” เพราะมีตำหนิ คือ ปานแดงที่นิ้วก้อยมือซ้าย ลักษณะเหมือนสวมปลอกนิ้วตั้งแต่โคนถึงปลายนิ้วมาแต่กำเนิด เมื่อยังเล็กเริ่มศึกษาอักขระจากพระในวัดบางนมโค

จนเมื่ออายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบาง นมโค เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2438 โดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์อุ่ม วัดสุทธาโภชน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ภายหลังอุปสมบทตั้งใจศึกษาวัตรปฏิบัติด้วยความขยันหมั่นเพียร สามารถท่องพระปาติโมกข์จนจบด้วยความคล่องแคล่ว ศึกษาวิทยาคมจากหลวงพ่อสุ่นเป็นเวลา 2 ปี แล้วไปขอเรียนบาลีไวยากรณ์ที่ วัดเจ้าเจ็ดในกับท่านอาจารย์จีน ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ

ท่านไปพักอยู่กับพระอาจารย์เจิ่น วัดสระเกศ ร่ำเรียนทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ รวมทั้งความรู้ทางแพทย์แผนโบราณจนแตกฉาน จากนั้นกลับมาจำพรรษาที่วัดบางนมโค ในปี พ.ศ.2442

หลวงพ่อคล้าย เจ้าอาวาสวัดบางนมโคขณะนั้น มอบหน้าที่ให้เป็นครูสอนหนังสือ โดยริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสอนพระภิกษุ-สามเณรและเด็กวัด ตลอดจนลูกชาวบ้าน และรับหน้าที่ปกครองดูแลทั้งหมด

ในยามว่าง ท่านใฝ่ใจศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน พร้อมทั้งยังไปขอศึกษาด้านกัมมัฏฐานเพิ่มเติมจากหลวงพ่อเนียม วัดน้อย พระเกจิชื่อดังเมืองสุพรรณบุรี

หลวงพ่อปาน ยังเป็นพระนักเทศน์ฝีปากเอก ที่ผู้ฟังจะเกิดศรัทธาเลื่อมใส ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ การเทศน์ของท่านจะมีเหตุมีผล มีตัวอย่างยกมาเทียบเคียงให้เห็นผลดีผลเสีย สามารถเทศน์ให้เห็นถึงบาปบุญคุณโทษ และชี้ทางสว่างได้อย่างเข้าใจได้ง่าย

กิจนิมนต์ของท่านมีแทบไม่ว่างเว้น และทุกครั้งที่ได้อดิเรกลาภเป็นสิ่งของหรือปัจจัย ท่านจะนำมาแจกจ่ายให้พระลูกวัด โดยไม่เก็บไว้

นอกจากความมีมานะ พูดจริงทำจริง อดทนต่อความยากลำบาก และมีจิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญเด็ดขาด ทั้งเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ท่านยังชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอแล้ว

ท่านเป็นนักก่อสร้าง นักพัฒนา หมอแผนโบราณ ฯลฯ

การสร้างพระเครื่องวัตถุมงคล ท่านสร้างเพื่อเป็นการสืบพระพุทธศาสนาเป็นหลัก นอกเหนือไปจากสร้างเพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์นำไปบูชา เท่าที่มีหลักฐานและข้อมูลระบุว่า ท่านสร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2450 มีด้วยกันหลายพิมพ์ วงการพระเรียกกันว่า “พิมพ์โบราณ”

ต่อมา พ.ศ.2460 จึงสร้างรุ่น 2 ให้มีรูปแบบสวยงามกว่าครั้งแรก แบ่งเป็น 6 พิมพ์หลัก คือ ทรงไก่, ทรงครุฑ, ทรงหนุมาน, ทรงปลา, ทรงเม่น และทรงนก แต่ละพิมพ์ยังแยกย่อยออกไปอีกหลายพิมพ์ พิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ “พิมพ์ทรงไก่”

พระเครื่องหลวงพ่อปาน กลายเป็นพิมพ์นิยมในวงการพระเครื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อายุ 61 ปี หลวงพ่อปาน เริ่มอาพาธและแจ้งให้บรรดาศิษย์ ทราบว่าอีก 3 ปี ท่านจะมรณภาพในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 8 เวลา 6 โมงเย็น กระทั่งครบปีที่ 3 ย่างเข้าเดือน 8 ท่านเกิดอุบัติเหตุหกล้มแล้วเริ่มอาพาธ ครั้นพอเวลา 6 โมงเย็น วันแรม 14 ค่ำ เดือน 8 ถึงกาลมรณภาพโดยสงบด้วยวัย 64 ปี

ท่านมรณภาพวันที่ 26 ก.ค.2481 สิริอายุ 63 ปี พรรษา 43

เสียงกำชับเตือนใจที่ให้แก่ศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย ท่านขอ 2 อย่าง คือ “อย่าดื่มสุรา และอย่าลักขโมย ประพฤติเป็นโจร”

ยังไม่มีความคิดเห็น โพสต์เลยตอนนี้
ความคิดเห็น